“นับตั้งแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีก
เมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่าคือ การรู้จักพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงยอมที่จะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล
เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร” (ฟป.3:8)
นักบุญเปาโลได้เล่าเหตุการณ์การกลับใจของตนอย่างลึกซึ้งมากที่สุดในบทที่ 3 ของจดหมายถึงชาวฟิลิปปีเพราะในข้อความนี้ ท่านได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า การกลับใจเป็นการเปลี่ยนทั้งแนวความคิดและวิถีชีวิตโดยสินเชิง
นักบุญเปาโลเริ่มอธิบายถึงหลักฐานจริยธรรมของตน ก่อนที่ท่านจะพบกับพระคริสตเจ้าขณะเดินทางไปยังเมืองดามัสกัส แล้วประกาศว่าท่านได้ละทิ้งหลักการนี้ เพื่อยึดมั่นพระคริสตเจ้าโดยแท้จริงแล้ว
หลักมาตรฐานจริยธรรมนั้นมีคุณค่ามาก และนักบุญเปาโลเคยภูมิใจในหลักมาตรฐานนั้น เพราะคิดว่าเป็นหลักที่มีพื้นฐานในเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรประชากรชาวอิสราเอล และมีพระวาจาเป็นเครื่องหมายรับประกัน นักบุญเปาโลเรียกระบบของธรรมบัญญัติแบบทั้งหมดว่า “การปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ทางร่างกาย” และการเข้าสุหนัตจึงเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่เห็นได้ชัด
นักบุญเปาโลเขียนว่า “ถ้าผู้ใดคิดว่าตนเองมีเหตุผลที่จะวางใจในการปฏิบัติเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็มีเหตุผลมากกว่าข้าพเจ้ารับพิธีสุหนัตเมื่อเกิดมาได้แปดวัน เป็นเชื้อสายชนชาติอิสราเอลจากตระกูลเบนจามิน เป็นชาวฮีบูร เกิดจากชาวฮีบูร ด้านธรรมบัญญัติข้าพเจ้าเป็นชาวฟาริสี ในด้านความกระตือรือร้นข้าพเจ้าเป็นผู้เบียดเบียนพระศาสนจักร ในด้านความชอบธรรมตามธรรมบัญญัติ ไม่มีสิ่งใดจะตำหนิข้าพเจ้าได” (ฟป.3:4-6)
นักบุญเปาโลจึงรู้ว่าพฤติกรรมของตนในอดีต ได้สอดคล้องกับการเป็นประชากรของพระเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนท่านชมเชยคุณค่าของการเป็นยิว ดังที่ท่านได้เขียนไว้ในจดหมายถึงชาวโรมว่า “พี่น้องเหล่านี้คือ ชาวอิสราเอลที่ได้เป็นบุตรบุญธรรม ได้รับเกียรติ พันธสัญญาธรรมบัญญัติ ศาสนพิธีและพระสัญญาต่างๆ” (รม.9:4)
นักบุญเปาโลให้คำนิยามของการเป็นชาวยิวไว้ว่า “หากท่านเรียกตนว่าเป็นชาวยิว วางใจในบทบัญญัติ ภูมิใจในองค์พระเจ้า รู้จักพระประสงค์ของพระองค์ แยกถูกแยกผิดได้ เพราะท่านได้รับการสอนจากธรรมบัญญัติ หากท่านมั่นใจว่าตนเองเป็นผู้นำทางคนตาบอดและเป็นแสงสว่างให้ผู้อยู่ในความมืด เป็นครูสอนคนโง่ สั่งสอนคนที่ไม่มีความรู้ได้ เพราะท่านมีธรรมบัญญัติที่ท่านคิดว่าบรรจุความรู้และความจริงทั้งหมดไว้นั่นแหละท่านคือชาวยิว” (รม.2:17-20)
นักบุญเปาโลจึงได้คิดเอาไว้ว่าหลักมาตรฐานจริยธรรมของการเป็นยิวมีศักดิ์ศรีควรแก่การเคารพ แต่ท่านก็ได้เปลี่ยนใจอย่างสิ้นเชิง ละทิ้งหลักเหล่านั้นมิใช่เพื่อยึดหลักมาตรฐานจริยธรรมอีกหลักการหนึ่ง เพราะคิดว่าหลักการใหม่นี้ดีกว่าหลักเดิม ซึ่งนักบุญเปาโลไม่ได้กระทำเช่นนี้อย่างแน่นอน
นักบุญเปาโลทิ้งหลักมาตรฐานจริยธรรมเดิม เพื่อยึดมั่นในพระบุคคลของพระคริสตเจ้า ท่านได้เขียนไว้ว่า.. “สิ่งที่ได้เคยเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้ละทิ้งไปเพราะพระคริสตเจ้า” (ฟป.3:7) เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์กลับเป็นความเสียหาย สิ่งที่เคยมีค่าก็ถูกมองว่าไร้ค่า ดังที่นักบุญเปาโลเขียนต่อไปว่า “นับแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีก เมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่าคือ การได้รู้จักพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยอมสูญเสียทุกสิ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร” (ฟป.3:8)
ดังนั้น หลักมาตรฐานจริยธรรมของชาวยิวที่นักบุญเปาโลเคยยกย่องนั้นกลับเป็นปฏิกูล เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ท่านจึงละทิ้งอย่างรุนแรง ตามอุปนิสัยใจคอของตน นักบุญเปาโลต้องการสิ่งเดียวคือ “การรู้จักพระคริสตเยซู” สำนวนนี้ไม่ได้หมายความเพียงแต่ว่า..มีความรู้ทางสติปัญญาเท่านั้น แต่หมายถึงความสัมพันธ์ส่วนบุคคล
นักบุญเปาโลได้พบเสน่ห์บางอย่างในพระคริสตเจ้า และพระองค์ทรงกลับเป็นขุมทรัพย์เดียวสำหรับท่านการกลับใจของท่าน จึงไม่เป็นการกระทำของผู้หลงใหลเพราะความรักต่อบุคคลนั้นนักบุญเปาโลได้ยอมละทิ้งสิ่งที่มีค่ามาก เพื่อติดตามบุคคลที่ท่านหลงรัก
นักบุญเปาโลได้อธิบายต่อถึงทัศนคติใหม่ของตนเองในเรื่องศาสนาว่า เมื่อท่านได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร “และอยู่ในพระองค์ ข้าพเจ้าไม่มีความชอบธรรมที่มาจากธรรมบัญญัติ แต่มีความชอบธรรมเพราะความเชื่อในพระคริสตเจ้า เป็นความชอบธรรมซึ่งพระเจ้าประทานให้กับผู้มีความเชื่อ” (ฟป.3:9) ในจดหมายถึงชาวกาลาเทีย และถึงชาวโรม ท่านได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง “ความชอบธรรมที่มาจากธรรมบัญญัติ” และ “ความชอบธรรมที่มาจากความเชื่อ”
ความชอบธรรมที่มาจากธรรมบัญญัติเป็นระบบประมวลกฎหมายที่กำหนดสิ่งที่ต้องกระทำ และห้ามสิ่งที่ไม่ต้องกระทำ บุคคลที่ยอมรับระบบนี้คิดว่า “ข้าพเจ้ายอมรับระบบนี้จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และคิดได้ว่าเป็นผู้ชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า”
ส่วนความชอบธรรมที่มาจากความเชื่อมีพื้นฐานในความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับพระคริสตเจ้า ทำให้เราออกจากตนเอง ยอมรับว่าตนอ่อนแอ และเป็นผู้ชอบธรรมได้ เพราะพระบุคคลที่เราไว้ใจช่วยเราให้รอดพ้น นี่เป็นแก่นแท้ของการกลับใจของคริสตชน การยึดถือพระคริสตเจ้าเป็นพื้นฐานชีวิต ความไม่ต้องการสิ่งอื่นใด นอกจากความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
นักบุญเปาโลจึงกล่าว่า “ข้าพเจ้าต้องการรู้จักพระองค์ รู้จักฤทธานุภาพของการกลับคืนพระชนม์ชีพ ต้องการมีส่วนร่วมในพระทรมานของพระองค์ โดยมีสภาพเหมือนพระองค์ในความตายจะได้บรรลุถึงการกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายด้วย” (ฟป.3:10-11)
นักบุญเปาโลเข้าใจว่าเราจะเข้าถึงพระคริสตเจ้าโดยตรงไม่ได้ ถ้าเราไม่ผ่านทางธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้าคือ เราต้องยอมรับการทรมานก่อนจึงจะได้กลับคืนชีพ ความคิดนี้ได้แสดงว่านักบุญเปาโลรักพระคริสตเจ้าอย่างจริงใจเพราะท่านยอมร่วมรับทรมาน การถูกสบประมาท เพื่ออยู่กับพระองค์ในทุกสิ่ง “ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุเป้าหมาย ยังทำไม่สำเร็จ ข้าพเจ้ายังมุ่งหน้าวิ่งต่อไปเพื่อจะช่วงชิงรางวัลให้ได้ดังที่พระคริสตเยซูทรงช่วงชิงข้าพเจ้าไว้ได้แล้ว” (ฟป.3:12)
ข้อความในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี ที่ได้อธิบายนี้ ชวนเราให้ถามตนเองว่า เราได้กลับใจเหมือนนักบุญเปาโลแล้วหรือยัง? เราได้เลิกที่จะตั้งคุณค่าของตนบนกิจการที่เรากระทำหรือหลักมาตรฐานจริยธรรมที่เรายึดถือ เรายังแสวงหาค่านิยมของโลกคือ ความสำเร็จ คำชมเชย ชีวิตที่สะดวกสบาย เกียรติยศ และชื่อเสียง
หรือเราต้องการแค่สิ่งเดียวคือ “ได้องค์พระคริสตเจ้ามา..เป็นกำไร” เพราะพระองค์ทรงเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าที่สุดของชาวเรา...
นิตยสารดอนบอสโก ปีที่ 50 กันยายน 2551 |